วิถีชีวิตและเศรษฐกิจ
วิถีชีวิตและเศรษฐกิจ
การทำมาหากินแบบดั้งเดิม คือการตกเบ็ด ดำน้ำแทงปลา หาหอย และล่าสัตว์ทะเลเป็นอาหาร ในช่วงมรสุมออกทะเลไม่ได้ต้องหลบลมหลบฝนตามชายฝั่ง หรือขึ้นฝั่งมาหาน้ำจืดก็จะหุงหาอาหารโดยเก็บมะพร้าว เก็บยอดผัก ล่าสัตว์เล็ก ตามชายฝั่งสำหรับปรุงอาหาร หลังจากที่อูรักลาโว้ย บางกลุ่มเริ่มขึ้นมาตั้งหลักแหล่งบนฝั่ง เพราะแหล่งที่เคยเร่ร่อนพักอาศัยถูกยึดครองโดยกลุ่มชนอื่นแล้ว ก็เริ่มเรียนรู้การทำไร่ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ ทำสวนยางพารา ฯลฯ แต่บางกลุ่มที่อาศัยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่สามารถปลูกพืชได้ก็ยังยึดทะเลเป็นแหล่งเสบียงอาหาร
ต่อมามีการติดต่อกับผู้คนต่างวัฒนธรรม นำของทะเลที่เป็นส่วนเกินไปแลกเปลี่ยนของใช้จำเป็น บางกลุ่มรับจ้างแรงงานกับชาวจีน ได้ค่าตอบแทนเป็นเสื้อผ้าเก่า ข้าวสาร ในช่วงหลังอูรักลาโว้ยบางกลุ่มตกอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพา ด้วยการเช่าซื้ออวน เรือหางยาวพร้อมเครื่องเรือจากนายทุน โดยมีเงือนไขว่าจะต้องจับกุ้ง หรือปลาส่งขายให้กับนายทุนเท่านั้นเพื่อหักหนี้สิน หลังเหตุการณ์ สึนามิ จึงได้รับเรือและเครื่องมือหากินเป็นของตนเอง ประกอบกับธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น อูรักลาโว้ยที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว สามารถปรับตัวให้สามารถอยู่รอดในสังคมได้ด้วยการออกทะเลหาปลาไปขายร้านอาหารบ้าง รับจ้างแรงงานบ้าง
แทงโวยวาย
อวนกุ้ง
ไซปลา
ดำน้ำวางไซปลา