ประวัติศาสตร์อูรักลาโว้ย

รากเหง้าอูรักลาโว้ย

ชาวเลอูรักโว้ย คือ คนทะเลอยู่ฝั่งทะเลอันดามัน

ชนเผ่าพื้นเมืองอูรักลาโว้ย

ประวัติศาสตร์

อูรักลาโว้ย เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในราชอาณาจักรไทยมายาวนาน ก่อนที่ประเทศไทยจะรวบรวมแผ่นดินและประชากรเป็นรัฐชาติ เพื่อคงความเป็นเอกราชจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก พวกเขาเข้ามาตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณหมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และกระจายตัวออกไปตามหมู่เกาะต่างๆ ในแถบทะเลอันดามันที่เป็นอาณาเขตของประเทศไทย

ตามประวัติศาสตร์ที่สืบค้นได้ในหลายๆ ภาคส่วนสรุปได้ว่า “ซาตั๊ก” หรือเกาะลันตา เป็นแผ่นดินแห่งแรกที่ชาวอูรักลาโว้ยลงหลักปักฐาน ก่อนที่จะแยกย้ายขยายถิ่นฐานไปยังพื้นที่อื่นๆ เกาะลันตาจึงเปรียบเสมือนเมืองศูนย์กลางของชาวอูรักลาโว้ย โดยการศึกษาถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวอูรักลาโว้ยในปัจจุบันสามารถค้นคว้าได้โดยทั่วไป เพราะมีการจัดทำเอกสารประวัติความเป็นมาถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวอูรักลาโว้ยไว้จำนวนหนึ่งทั้งในระบบออนไลน์และเอกสารวิชาการที่อธิบายและวิเคราะห์ถึงประวัติศาสตร์ชาวอูรักลาโว้ย

ถิ่นกำเนิด

ชาวพื้นเมืองอูรักลาโว้ยซึ่งเป็นชนเผ่าที่ดำรงชีพด้วยการประมงชายฝั่งแบบพื้นบ้านในแถบทะเลอันดามัน มีประวัติศาสตร์บอกเล่าผ่านบันทึกของนักประวัติศาสตร์ตะวันตก และนิทานประจำถิ่นระบุว่า ชาวอูรักลาโว้ยมีถิ่นฐานอยู่แถบเกาะมะละกา เกาะลังกาวี อูรักลาโว้ยมีความผูกพันอยู่กับทะเล มีเรือเป็นเสมือนเพื่อนรู้ใจ เรือจึงมีความสำคัญกับชาวอูรักลาโว้ยในอดีตซึ่งเปรียบเสมือนได้กับเป็นบ้านหลังแรกที่อยู่อาศัยตั้งแต่ยุคดั้งเดิมที่พวกเขานำเรือท่องไปตามหมู่เกาะต่างๆ มีการตั้งข้อสันนิษฐานหลายประการเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชาวอูรักลาโว้ย ทั้งที่สันนิษฐานว่าเป็นชนพื้นเมืองที่อพยพมาจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน โดยอพยพลงมาทางตอนใต้ล่องตามแม่น้ำโขงเรื่อยมาจนถึงแหลมอินโดจีน และมีการสันนิษฐานอีกว่าอูรักลาโว้ยอาจอพยพมาจากบริเวณประเทศมาเลเซีย และจากการศึกษาประวัติความเป็นมาของชาวอูรักลาโว้ยโดยอาศัยเปรียบเทียบรูปร่าง ลักษณะทางกายภาพ เพื่อตั้งข้อสันนิษฐาน อูรักลาโว้ยได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มมาลาโย-โปลีนีเซียน หรือกลุ่มชนพวกเมลานีเซียน แต่ก็ยังไม่มีการสรุปได้อย่างแน่นอนว่าเป็นชนพื้นเมืองเดิมของหมู่เกาะต่างๆ ตามฝั่งทะเลตะวันตกที่มีเชื้อชาติอะไร หรือเคยอยู่ในบริเวณใดอย่างแน่ชัด แต่พวกเขาเป็นพวกที่ร่องเรือไปตามที่ต่างๆ

ตำนานเทือกเขา “ฆูนุงฌึรัย” (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532) เมื่อประมาณ 500 – 600 ปีก่อน เคยเป็นถิ่นฐานของบรรพบุรุษอูรักลาโว้ย ก่อนอพยพเข้าสู่น่านน้ำไทยในปัจจุบัน และเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในตำนานที่พวกเขาจะต้องทำพิธีลอยเรือไปเซ่นสรวงทุกครั้งที่ลมมรสุมพัดเปลี่ยนทิศทาง

เส้นทางการเคลื่อนย้าย

จากร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏ อาจเรียบเรียงได้ว่าชาวอูรักลาโว้ยนั้น ได้ล่องเรือมาพบเกาะที่มีหาดทรายขาวเป็นแนวยาวจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้เหมาะเป็นที่หลบมรสุม พวกเขาเรียกเกาะแห่งนี้ว่า “ปาตัยซาตั๊ก” และบุกเบิกเกาะแห่งนี้ตั้งรกรากแปรรูปผลผลิตจากทะเลตามแถบชายหาดของเกาะ และเคลื่อนย้ายไปมาตามแหล่งประมงต่างๆ แล้วกลับมา ณ เกาะแห่งนี้ในช่วงเวลาเดิมๆ จนมีพื้นที่พิธีกรรมตามประเพณีบนเกาะแห่งนี้ที่เรียกว่า “ศาลโต๊ะบาหลิว” ซึ่งเป็นศาลบรรพบุรุษของชาวอูรักลาโว้ย ณ ปัจจุบันอยู่บริเวณบ้านบ่อแหนบนเกาะลันตาใหญ่ ที่ชาวอูรักลาโว้ยจะใช้พื้นที่ดังกล่าวประกอบพิธีลอยเรือทุกๆ ปี

หมู่เกาะลันตา หรือ “ปาตัยซาตั๊ก” ตามภาษาอูรักลาโว้ย มีเกาะน้อยใหญ่ห้อมล้อมถึง 53 เกาะ แต่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนในปัจจุบันเพียง 9 เกาะ มีเกาะลันตาใหญ่เป็นศูนย์กลางการอยู่อาศัย ด้วยสภาพภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติที่ประกอบด้วยพื้นที่ภูเขาที่เป็นป่าไม้และแหล่งน้ำจืดจากยอดเขาตอนกลางของเกาะลงสู่ที่ราบและชายทะเลแบ่งพื้นที่เกาะออกเป็นสองส่วนคือฝั่งตะวันออก ชาวบ้านเรียก “หน้าเกาะ” ชาวอูรักลาโว้ยในอดีตอาศัยพื้นที่ชายฝั่งตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเริ่มแรก และฝั่งตะวันตก ชาวบ้านเรียก “หลังเกาะ” ซึ่งอดีตไม่มีผู้คนอาศัยเพราะเผชิญหน้ากับมรสุม แต่ปัจจุบันเป็นทำเลทองที่ใครใคร่จับจองเป็นเจ้าของ ส่วนพื้นที่ภูเขาและผืนป่าธรรมชาติปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาเป็นส่วนใหญ่ วิถีชีวิตและผู้คนหลังจากการบุกเบิกของชาวอูรักลาโว้ย มีทั้งชาวจีนและชาวมลายูมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วม โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บริเวณศรีรายา จนกระทั่งทางการไทยเห็นว่าเกาะลันตาเป็นแหล่งค้าขายจึงมาตั้งด่านภาษี ทำให้เกาะแห่งนี้ได้รับการพัฒนาเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน

ชาวอูรักลาโว้ย ที่มีวิถีชีวิตออกเรือประมงไปตามช่วงเวลามรสุม ประกอบกับไม่นิยมอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่าง จากเดิมชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะลันตาที่ได้รับการสำมะโนประชากรเป็นคนไทยในช่วงปี พ.ศ. 2500 ได้มีการเคลื่อนย้ายกระจายตัวชุมชนออกไปยังเกาะแก่งต่างๆ ในแถบอันดามัน